วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กระเจี๊ยบแดง มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล



กระเจี๊ยบแดง มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล

น้ำกระเจี๊ยบแดง เป็นยากัดเสมหะ ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันเลือด ลดความหนืดของเลือด ป้องกันต่อมลูกหมากโต แก้อาการขัดเบา และสามารถลดไขมันในเลือด}

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L. วงศ์ Malvaceae
ชื่อสามัญ Rosella, Red Sorrel, Jamaica Sorrel
ชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือเรียก ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง เงี้ยว แม่ฮ่องสอนเรียก ส้มปู จังหวัดตากเรียก ส้มตะแลงเครง ภาคกลางเรียก กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ทั่วไปเรียก กระเจี๊ยบแดง

ลักษณะทั่วไป กระเจี๊ยบแดง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑.๕-๓ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบสลับ มีหลายแบบด้วยกัน บ้างมีขอบใบเรียบ บ้างมีรอยหยักเว้า ๓ หยัก ดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘-๑๐ เซนติเมตร ดอกมีสีครีม ตรงกลางดอกมีสีเข้มมากกว่าขอบนอกของกลีบ กลีบดอกร่วงโรยไป เหลือกลีบเลี้ยงอวบพองคงอยู่

ใบกระเจี๊ยบแดงมีรสเปรี้ยว กินได้ทั้งดิบและสุก ใส่ในแกงเผ็ดเพื่อแต่งรสได้ ใบอ่อนและยอด ใช้แต่งรสเปรี้ยว ใส่ต้มหรือแกง ชาวมอญใช้ใบกระเจี๊ยบแดงทำแกงกระเจี๊ยบ กลีบเลี้ยงสีแดงใช้ทำเครื่องดื่ม มีวิตามินเอสูง พบทั้งในประเทศไทยและแถบประเทศเม็กซิโก กลีบเลี้ยงมีเพ็กตินสูง ใช้ทำแยมและประกอบอาหาร เบเกอรี่ได้ดี

สรรพคุณทางยา
การใช้งานในประเทศไทยกล่าวว่า น้ำกระเจี๊ยบเป็นยากัดเสมหะ รสเปรี้ยวของดอกกระเจี๊ยบทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันเลือด (อาจเนื่องมาจากฤทธิ์ขับปัสสาวะ) ลดความหนืดของเลือด ป้องกันต่อมลูกหมากโต แก้อาการขัดเบา และสามารถลดไขมันในเลือดได้อีกด้วย
ส่วนผลอ่อนต้มกินติดต่อกัน ๕-๘ วัน ช่วยขับพยาธิตัวจี๊ด ผลแห้งป่นเป็นผง กินครั้งละ ๑ ช้อนโต๊ะ ดื่มน้ำตามวันละ ๓-๔ ครั้ง ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ เมล็ดบดเพื่อเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และยาบำรุง น้ำต้มดอกแห้งมีกรดผลไม้และ AHA หลายชนิดในปริมาณสูง ปัจจุบันมีคนนำเข้าเนื้อครีมหน้าใสเป็นสินค้าโอท็อปชื่อดังไปแล้ว

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ดอกกระเจี๊ยบมีสารต้านอนุมูลอิสระมากในปริมาณใกล้เคียงกับบลูเบอร์รี่ เชอร์รี่และแครนเบอร์รี่ จึงอวยประโยชน์ด้านป้องกันมะเร็ง ชะลอแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่ม
น้ำต้มดอกกระเจี๊ยบแห้งมีสารแอนโทไซยานินสูง สารกลุ่มนี้เองเป็นสารหลัก (เกินร้อยละ ๕๐) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
อีกกลุ่มจะเป็นสารโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน สารโพลีฟีนอล ได้แก่ protocatechuic acid ไม่สลายไปเมื่อได้รับความร้อนนานๆ แต่สารแอนโทไซยานินในน้ำกระเจี๊ยบจะมีปริมาณลดลงเมื่อได้รับความร้อนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

น้ำกระเจี๊ยบจะมีใยอาหารละลายน้ำได้ประมาณ ๐.๖๖ กรัม/ลิตร มีสารโพลีฟีนอลถึงร้อยละ ๖๖ ของปริมาณที่มีในกลีบเลี้ยง สรุปว่ามีใยอาหารและ โพลีฟีนอล ๑๖๖ และ ๑๖๕ มิลลิกรัม/แก้ว จึงนับว่าน้ำกระเจี๊ยบเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่า

กระเจี๊ยบมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล การทดลองในหนูเมื่อได้รับสารสกัดดอกกระเจี๊ยบ ๑,๐๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม นานหกสัปดาห์พบว่า คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และแอลดีแอลในซีรัมลดลงร้อยละ ๒๖, ๒๘ และ ๓๒ ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญ อย่าลืมว่าสารสกัดนี้ไม่ใส่น้ำตาล ผู้อ่านอย่าได้รีบดื่มน้ำกระเจี๊ยบหวานจ๋อยเพื่อลดไขมันในเลือดเป็นอันขาด

การทดลองในห้องทดลองพบว่า แอนโทไซยานิน จากกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ยับยั้งออกซิเดชั่นของแอลดีแอลและยับยั้งการตายของมาโครฟาจ สาร Delphinidin 3-sambubioside (Dp3-Sam), เป็นแอนโทไ:ยานินชนิดหนึ่งที่ได้จากดอกกระเจี๊ยบแห้ง Dp3-มีฤทธิ์กำจัดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในห้องทดลองได้ จึงมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งและอาจใช้ชะลอการลุกลามของมะเร็งบางชนิดได้ได้

น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งช่วยลดความดันเลือด แต่สามารถคงเกลือแร่ไว้ในร่างกายได้ไม่ขับออกกับปัสสาวะหมด การศึกษาในมนุษย์เห็นได้ว่า เมื่อดื่มน้ำกระเจี๊ยบปัสสาวะจะมีสารครีเอตินีน กรด ยูริก เกลือซิเทรต เกลือทาร์เรต แคลเซียม โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสเฟต ต่ำกว่าเมื่อไม่ได้ดื่ม น้ำกระเจี๊ยบมีพิษต่ำ แต่ถ้าดื่มเข้มข้นมากติดต่อกันนานๆจะไม่เกิดผลดีต่อร่างกาย

ผลจากหนูทดลองพบว่า น้ำกระเจี๊ยบป้องกันตับจากการถูกทำลายเมื่อให้สารพิษแก่หนู โดยลดการเพิ่มเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ในพลาสมาหนูที่รับสารพิษ ผู้วิจัยเชื่อว่าฤทธิ์นี้มาจากความสามารถในการต้านอนุมูล อิสระของน้ำกระเจี๊ยบ

สรุปว่า ผลจากการวิจัยค้นคว้าสรรพคุณทางยาของน้ำกระเจี๊ยบของไทยมีข้อมูลวิทยาศาสตร์สนับสนุนทั้งสิ้น จึงขอนำสูตรแก้ไอ (ทำได้เอง) น้ำกระเจี๊ยบ (ทำเองไม่หวาน ได้ประโยชน์มาก)

น้ำกระเจี๊ยบส่วนผสม
ดอกกระเจี๊ยบแห้ง น้ำตาลทราย (หรือใบหญ้าหวาน) เกลือ

วิธีทำ
นำดอกกระเจี๊ยบแห้งล้างน้ำทำความสะอาด ใส่หม้อต้มจนเดือด เคี่ยวจนน้ำเป็นสีแดงข้น กรองเอาดอกกระเจี๊ยบออก ปล่อยให้เดือดสักครู่ ยกลงเติมน้ำตาลและเกลือลงไป แบ่งใส่แก้ว เติมน้ำแข็งดื่มได้ทันที หากทำมากก็กรอกใส่ขวด แช่ตู้เย็นเก็บไว้ได้นาน หรือนำดอกกระเจี๊ยบมาตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ปริมาณครั้งละ ๑ ช้อนชา ชงในน้ำเดือด ๑ ถ้วย ดื่มได้สะดวกเช่นกัน
แก้ไอขับเสมหะโดยกระเจี๊ยบแดง

วิธีที่ ๑.
ใช้กระเจี๊ยบสดหรือแห้งประมาณ ๑-๒ กำมือ ต้มกับน้ำ ๑ ขวดน้ำปลา
เติมน้ำตาล ๒ ช้อนแกง และเกลือครึ่งช้อนชาดื่มเคี่ยวให้เหลือแก้วครึ่ง
ใช้จิบบ่อยๆ ขณะน้ำยาอุ่น

วิธีที่ ๒.
ใช้ใบสด ๑-๒ กำมือ เติมเกลือพอเค็ม ใส่น้ำ ๓ แก้วเคี่ยวให้เหลือ ๑ แก้ว จิบบ่อยๆ

วิธีที่ ๓.
ใช้ใบสด ๓-๕ ใบ ตำให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อยคั้นเอาน้ำกินครั้งละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ จิบก่อนอาหารหรือทุกครั้งที่ไอ

คัดลอกข้อมูลความรู้จาก หมอชาวบ้าน รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ สาขาเภสัชโภชนศาสตร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


พอทราบถึงสรรพคุณทางยาแล้วลองมาทำน้ำกระเจี๊ยบดื่มกันดีกว่าค่ะ และถ้าผู้อ่านบางท่านอยากจะลองทำแบบรสชาติหวานชื่นใจก็ลองวิธีทำต่อไปนี้น่ะค่ะ

ส่วนผสม

ดอกกระเจี๊ยบสด/แห้ง 20 กรัม (5 ดอก )

น้ำเชื่อม 30 กรัม (2 ช้อนคาว )

น้ำเปล่า 200 กรัม (14 ช้อนคาว )

เกลือป่นเสริมไอโอดีน 2 กรัม (2/5 ช้อนคาว )

วิธีทำ

- เอาดอกกระเจี๊ยบสดหรือแห้งก็ได้ ล้างน้ำทำความสะอาด นำใส่หม้อต้ม จนเดือด แล้วลดไฟลงอ่อนๆ เคี่ยวเรื่อยๆ จนน้ำเป็นสีแดงจนเข้มข้น

- เอาดอกกระเจี๊ยบขึ้นจากหม้อต้ม แล้วเอาน้ำเชื่อมและเกลือใส่ลงไป ปล่อยให้น้ำกระเจี๊ยบเดือด 1 นาที ยกลงชิมรสตามชอบ

- เอาขวดเปล่ามาล้างทำความสะอาด ต้มในน้ำเดือด 20 นาที นำน้ำกระเจี๊ยบแดงมากรอกแล้วปิดจุกให้แน่น แช่ตู้เย็นเก็บไว้ได้นาน

- หรืออีกวิธีหนึ่ง...นำดอกกระเจี๊ยบมาตากแห้ง แล้วนำมาบดเป็นผง นำผงกระเจี๊ยบครั้งละ 1 ช้อนชา ชงในน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิกรัม)

คุณค่าทางอาหาร : ให้วิตามินเอสูงมาก ช่วยบำรุงสายตา รองลงมามี แคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน

สุดท้ายนี้ดิฉันขอให้ทุกคนสุขภาพดีกันทุกคนเลยน่ะค่ะ

ข้อมูลความรู้เพิ่มเติม
นิตยสารหมอชาวบ้าน http://www.doctor.or.th/all

1 ความคิดเห็น:

  1. ชอบมากครับ น้ำกระเจี๊ยบแดง สั่งทานทุกครั้งที่มีโกาสแต่ตามร้านมักจะหวานจัดไปหน่อย
    ตั้งชื่อบล็อกให้ถูกใจ ด้วยเทคนิคง่ายๆ

    ตอบลบ

Powered By Blogger